ฟันปลอมหัก รักษาด้วยตัวเองได้มั้ย ดูแลอย่างไรให้ใช้งานนาน
Posted: 16 September , 2022หลายคนอาจสงสัยว่าควรรับมือกับปัญหาฟันปลอมหักอย่างไรดี ควรซื้อกาวมาติดเองดีมั้ยหรือต้องให้หมอฟันจัดการให้เท่านั้น วันนี้ Homey Dental Clinic มีคำตอบครับ
ก่อนอื่นเราจะพามาทำความเข้าใจก่อนว่าฟันปลอมมีกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันอย่างไร เพื่อการดูแลรักษาฟันปลอมของคุณอย่างถูกวิธี
ฟันปลอมมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
1. ฟันปลอมแบบถอดได้
เป็นฟันปลอมที่ใช้ตะขอในการยึดเกาะฟันปลอมกับฐานฟันปลอม เหมาะสำหรับคนไข้ที่สูญเสียฟันเพียงบางส่วนหรือไม่มีฟันเหลือ ฟันปลอมแบบถอดได้มีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ แบบพลาสติกยืดหยุ่นและแบบโลหะ ข้อดีของฟันปลอมถอดได้คือขั้นตอนทำฟันปลอมค่อนข้างรวดเร็วและไม่ซับซ้อน สะดวกต่อการถอดทำความสะอาดนอกช่องปาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่อยากเสียเวลาทำความสะอาดมากและผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากราคาถูกกว่าฟันปลอมแบบติดแน่น แต่มีข้อควรระวังอยู่ที่ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารจะน้อยกว่าฟันปลอมแบบติดแน่นและที่เกี่ยวตะขออาจเสื่อมไปตามเวลา จึงมีโอกาสหลุดง่าย
2. ฟันปลอมแบบติดแน่น
เป็นฟันปลอมที่ต้องกรอฟันให้เล็กลงเพื่อยึดฟันธรรมชาติและครอบฟันให้ติดกับฟันปลอม เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันไม่มากและผู้ที่ต้องการฟันปลอมที่มีสีใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ฟันปลอมแบบติดแน่นมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ ฟันปลอมชนิดติดแน่นด้วยสะพานฟัน และฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม ข้อดีของฟันปลอมชนิดนี้อยู่ที่ความคงทนของวัสดุ ช่วยให้คุณเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกลัวหลุด แต่มีข้อควรระวังในการใช้งานคือขั้นตอนการทำความสะอาดที่ยุ่งยาก หากทำความสะอาดไม่ดี อาจเกิดปัญหาฟันผุใต้ที่ครอบฟันและโรคเหงือกอักเสบตามมา อีกทั้งมีราคาแพงกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้ด้วย
สาเหตุที่ทำให้ฟันปลอมหัก
- ใช้ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น อะคริลิกบ่มตัวไม่สมบูรณ์ หรือฟันมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการยึดติด
- บดเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวมากเกินไป
- ทำฟันปลอมหล่นขณะนำไปทำความสะอาด
- ปล่อยฟันปลอมให้แห้งโดยไม่แช่น้ำ
ข้อควรระวังในการใช้งานฟันปลอม
- ช่วงแรกของการใส่ฟันปลอมอาจรู้สึกไม่คุ้นชินกับฟันปลอมในช่องปาก จนเกิดการระคายเคือง, มีน้ำลายไหลออกมาก, ทานอาหารลำบากและพูดไม่ชัด แต่หากใส่เป็นประจำ อาการเหล่านี้จะหายไปเอง
- ช่วงแรกจำเป็นต้องใส่ฟันปลอมตลอดเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัว จากนั้นจึงค่อยถอดออกเฉพาะตอนนอน เพื่อให้เหงือกพักจากการถูกกดทับ หากเผลอใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ อาจเสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบ
- ไม่ควรปล่อยให้ฟันปลอมแห้ง เพราะจะทำให้พลาสติกที่นำมาทำฟันปลอมเสื่อมและผิดรูปไปจากเดิม
- ห้ามใช้น้ำร้อนในการทำความสะอาด, แช่ฟันปลอม หรือตากฟันปลอมทิ้งไว้กับแดด เพราะจะทำให้ฟันปลอมบิดเบี้ยวผิดรูป
- หากคนไข้มีแรงบดเคี้ยวมากเกินปกติ อาจทำให้ฐานหรือชิ้นส่วนของฟันปลอมหัก
- หากคนไข้ใช้งานฟันปลอมผิดวิธีด้วยการงัด, ดึง หรือดัดตะขอ อาจทำให้ตะขอฟันปลอมหัก
- หากคนไข้ถอนฟันเพิ่มหลังทำฟันปลอม อาจเสี่ยงต่อการเกิดเศษอาหารติดอยู่ในช่องว่างจากการถอนฟัน
- หากพบอาการผิดปกติในช่องปากจากการใช้ฟันปลอม ให้รีบมาพบคุณหมอฟันทันที
ฟันปลอมหักซ่อมเองได้ไหม
หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าฟันปลอมหักสามารถซ่อมได้ง่าย ๆ ด้วยการติดกาวตราช้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกาวชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาฟันปลอมและไม่สามารถทานได้ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากคิดจะซ่อมฟันปลอม แนะนำให้นำฟันที่หักมาพบคุณหมอฟันทันทีเพื่อให้คุณหมอประเมินก่อนว่าสามารถซ่อมได้หรือไม่? โดยทั่วไปสามารถซ่อมด้วยกาวทางทันตกรรมของคุณหมอฟันเพื่อใช้งานได้ตามปกติ
ดูแลช่องปากหลังจากใส่ฟันปลอมอย่างไรได้บ้าง
1. การดูแลฟันปลอมเเบบถอดได้
- ทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังมื้ออาหารโดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มหรือแปรงสีฟันสำหรับฟันปลอมโดยเฉพาะ นำแปรงผสมกับน้ำสบู่, เม็ดฟู่ทำความสะอาดฟันปลอม หรือยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ก็ได้เช่นกัน จากนั้นแปรงฟันปลอมให้ทั่วเหมือนการแปรงฟันทั่วไปอย่างน้อย 2-3 นาที ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาสีฟันแบบผงสำหรับทำความสะอาดฟันปลอม เนื่องจากจะทำให้ฟันปลอมซึ่งทำมาจากพลาสติกสึกกร่อนเร็วขึ้น
- ต้องทำความสะอาดฟันปลอมอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน (หลังมื้อเช้าและก่อนนอน)
- ก่อนนอนอย่าลืมแช่ฟันปลอมไว้ในภาชนะบรรจุน้ำสะอาด หรือน้ำสะอาดผสมน้ำยาบ้วนปากเพียง 1-2 หยด
- ห้ามวางฟันปลอมทิ้งไว้ข้างนอก เพื่อป้องกันฐานพลาสติกแห้งและเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิม
- หากพบหินปูนจำนวนมากบนฟันปลอม ให้นำน้ำส้มสายชูแช่ฟันปลอมไว้ 8 ชั่วโมง (เหมาะกับการแช่ก่อนนอน) เมื่อฟันปลอมนิ่มลงแล้วจึงแปรงหินปูนออก แต่วิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับฟันปลอมที่มีตะขอหรือโครงโลหะ
2. การดูเเลฟันปลอมเเบบติดเเน่น
- ทำความสะอาดเหมือนการแปรงฟันทั่วไป เพียงแต่เน้นแปรงบริเวณคอฟันและเหงือก
- ใช้ไหมขัดฟันขัดตามซอกฟัน
บทความที่น่าสนใจ
- อย่าปล่อยให้อุบัติเหตุทำเด็กฟันหัก จนสูญเสียฟันถาวร
- รวมทุกข้อควรรู้เกี่ยวกับฟันปลอมเด็ก
- ทำไมเด็กบางคนต้องใส่ฟันปลอม
ปรึกษา นัดหมาย หรือสอบถามเพิ่มเติม
คลินิกทันตกรรม Homey Dental Clinic เป็นคลินิกที่มีบริการการดูแลฟันและสุขภาพเหงือกอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการทำฟันแบบป้องกัน เช่น เคลือบฟลูออไรด์ อุดฟัน ขูดหินปูน ขัดฟัน การทำฟันแบบรักษา เช่น ถอนฟัน รักษารากฟัน ฟันเทียม ฟันปลอม ผ่าฟันคุด และการทำฟันเพื่อความงามเช่น จัดฟันโลหะ จัดฟันดามอน จัดฟันแบบใส (invisalign) ทำรีเทนเนอร์ การฟอกสีฟันด้วย Zoom ทุกเคสดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ยังเป็นคลินิกเฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพฟันเด็กโดยมีทันตแพทย์เด็กที่จบมาโดยเฉพาะถึง 8 ท่าน ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาเด็กกลัวหมอฟัน เพราะที่นี่เน้นการดูแลเด็กอย่างเป็นมิตร บรรยากาศเหมือนอยู่ที่บ้าน ทำให้เด็กสามารถมาหาหมอฟันอย่างมีความสุข เปิดประสบการณ์ใหม่ให้เด็กไม่กลัวการรักษาฟัน